วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การตรวจเช็คแรม

ถ้า Ram เสียจะรู้ได้อย่างไร?…เรามีวิธีตรวจคับ

          หน่วยความจำเสียเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยหนัก แต่น้อยคนนักจะทราบว่ามันเสีย เพราะอุปกรณ์ตัวนี้ไม่ได้แสดงอาการที่หนักหนาอะไรเหมือนกับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ฮาร์ดดิสก์ หรือซีพียู ที่ทำให้พีซีไม่สามารถใช้งานได้เลย ปัญหาที่ผู้ใช้มักจะพบเจอเสมอก็คือ อาการของเครื่องแฮงค์ หรือหยุดทำงานไปซะเฉยๆ แต่กว่าจะหาสาเหตุได้ก็แทบแย่ บางคนใช้วิธีการฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ แล้วติดตั้งระบบปฏิบัติการลงไปใหม่ บางคนอาจจะใช้วิธีการถอดอุปกรณ์ต่างๆ ออก แล้วใส่เข้าไปใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใครจะถนัดวิธีไหน แต่หลายๆ คน ลืมไปว่า อาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะมาจาก หน่วยความจำที่ทำงานผิดปกติก็ได้

หน่วยความจำเสียได้อย่างไร?

          สาเหตุที่ทำให้หน่วยความจำเสียหรือมีปัญหาในการทำงานก็มีด้วยกันหลายๆ อย่างครับ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าหน่วยความจำ 1 แผงนั้น ประกอบไปด้วยชิปหน่วยความจำหลายๆ ตัวรวมเข้าด้วยกัน ดังนั้นหากตัวใดตัวหนึ่งเสีย ตัวหน่วยความจำก็ยังสามารถทำงานได้ แต่อาจจะไม่ปกตินัก ปัญหานี้ก็อาจจะเกิดมาตั้งแต่ผู้ผลิตที่ผลิตหน่วยความจำเป็นจำนวนมากๆ ย่อมมีชิปหน่วยความจำที่เกิดปัญหาบ้างซึ่งปกติผู้ผลิตจะมีการทดสอบการทำงาน ของหน่วยความจำก่อนจำหน่ายทุกครั้งอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีชิปบางตัวที่หลุดรอดออกมาในตลาดได้เช่นกัน
นอกจากนี้สาเหตุที่เกิดจากผู้ใช้เองก็มีเช่นกันครับ ตั้งแต่เรื่องของการติดตั้งแผงหน่วยความจำไม่ถูกวิธี เช่น เสียบแผงหน่วยความจำเข้ากับสล็อตบนเมนบอร์ดไม่แน่สนิททำให้เวลาเปิดเครื่องแล้วเกิดการลัดวงจรขึ้น รวมไปถึงการใช้พาวเวอร์ซัพพลายที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ระบบการจ่ายไฟมีปัญหาก็ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยความจำได้เช่นกัน และยังมีเรื่องของการลัดวงจรจากสาเหตุอื่นๆ เช่น กระแสไฟตก ไฟเกิน เกิดกระแสไฟแรงสูงจากสายโทรศัพท์ ผ่านมายังโมเด็ม และสุดท้ายก็เป็นเรื่องของสภาวะแวดล้อมที่ไม่ค่อยดี มีฝุ่นเยอะซึ่งจะไปเกาะที่ผิวสัมผัสของหน่วยความจำทำให้เกิดการสกปรกทำให้เวลาใช้งาน เกิดปัญหาขึ้นไป ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุให้หน่วยความจำมีปัญหาได้ทั้งสิ้น ซึ่งอย่างที่บอกครับว่า ความเสียหายนี้อาจจะเกิดขึ้นเฉพาะชิปหน่วยความจำตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เสียทั้งหมด นั่นหมายถึงเราสามารถใช้งานได้ต่อไป แต่ว่าจะพบกับปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นตามมาอยู่เรื่อยๆ และเราไม่สามารถหาสาเหตุได้

สัญญาณบอกเหตุ ให้รู้ว่าหน่วยความจำเสีย
แน่นอนครับ เมื่อหน่วยความจำเสีย ก็มักจะมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นมาให้เห็น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการต่างๆ ดังนี้
1. เกิดจอฟ้าขึ้นระหว่างใช้งาน พร้อมข้อความแจ้งเตือนต่างๆ ซึ่งผู้ใช้ต้องรีบูตเครื่องใหม่เท่านั้น
2. เกิดจอฟ้าระหว่าการติดตั้งระบบปฏิบัติการ windows 2000 และ windows XP
3. เกิดอาการเครื่องแฮงค์ระหว่างการใช้งานโดยไม่ทราบสาเหตุ
4. เกิดอาการจอฟ้าระหว่างเปิดโปรแกรม หรือเกมส์ ที่ต้องใช้หน่วยความจำเป็นจำนวนมาก เช่น เกมส์สามมิติต่างๆ โปรแกรมกราฟิก รวมถึงโปรแกรมสำหรับทดสอบเครื่อง
5. เกิดภาพที่แสดงออกมาผิดเพี้ยน ซึ่งสาเหตุอาจจะรวมไปถึงตัวการ์ดจอมีปัญหาได้
6. ไม่สามารถบูตเครื่องได้ ซึ่งตัวเครื่องจะส่งเสียงสัญญาณออกมาให้ทราบว่าหน่วยความจำมีปัญหา
หรือว่าจะแสดงให้เห็นบนจอภาพเช่น Memory test fail เป็นต้น

          ตรวจสอบหน่วยความจำด้วยซอฟต์แวร์ หากคุณพบเจออาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามหัวข้อต่างๆ ก่อนหน้านี้แล้ว
ขั้นตอนต่อไปเราจะมาใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบหน่วยความจำ แต่ก่อนจะไปใช้ซอฟต์แวร์เราต้องตรวจสอบหน่วยความจำของเราก่อนว่ามีอยู่ทั้งหมดกี่แผง แต่ละแผงมีหน่วยความจำขนาดเท่าไหร่ และหน่วยความจำที่โชว์ตอนบูตเครื่อง แสดงครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ครบก็ค่อนข้างง่ายครับ เพราะเราสามารถถอดเปลี่ยนสลับดูว่าแผงไหนเสียได้ แต่ถ้าทุกๆ อย่างปกติ เราต้องใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบกันต่อไป ซอฟต์แวร์สำหรับตรวจสอบหน่วยความจำนั้นมีอยู่หลายๆ ตัวครับ แต่ว่าที่น่าสนใจก็มีอยู่ 3 ตัวด้วยกัน

Memtest86+ โปรแกรมยอดนิยมสำหรับตรวจสอบหน่วยความจำ ซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ อยู่ราวๆ 34 - 55.1 กิโลไบต์ ตามแต่เวอร์ชันและรูปแบบที่เราเลือกดาวน์โหลดมาใช้ครับ โปรแกรมนี้ออกแบบมาตั้งใจให้ทดสอบหาส่วนที่เสียหายของแรมครับ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ Memtest86+ - Advanced Memory Diagnostic Tool จากนั้นติดตั้งได้เลย มีข้อแม้ว่าคุณต้องใช้แผ่นดิสก์เก็ตด้วย และต้องบูตเครื่องใหม่ผ่านแผ่นดิสก์เก็ตนี้ สำหรับการใช้งานเมื่อเปิดโปรแกรมแล้ว ก็กดปุ่ม C จะมีเมนูต่างๆ มาให้เลือก ซึ่งในส่วนของโหมดการทดสอบนี้ จะทดสอบหน่วยความจำพร้อมแสดงรายละเอียดให้เห็น และถ้ามีข้อผิดพลาดก็จะแจ้งรายละเอียดข้อผิดพลาดนั้นๆ ให้ทราบผ่านทางหน้าจอด้วย

DocMemory เป็นโปรแกรมทดสอบหน่วยความจำอีกตัวหนึ่งที่น่าใช้เช่นกันครับ
สามารถดาวน์โหลดได้ที่ CST Inc, The DDR4,DDR3,DDR2,DDR1 Memory Tester Company that Provides Memory Solution ซึ่งมีขนาด 271 กิโลไบต์เท่านั้น โปรแกรมนี้ต้องใช้แผ่นดิสก์เก็ตสำหรับติดตั้งเช่นกัน และต้องบูตด้วยแผ่นดิสก์เก็ตด้วย โปรแกรมนี้ก็จะคล้ายๆ กับตัวโปรแกรม Memtest86+ ซึ่งจะแสดงรายละเอียดปัญหาของหน่วยความจำให้ทราบด้วย พร้อมกันนี้ยังสามารถปรับตั้งการทดสอบแบบวนลูปได้อีกด้วย

โปรแกรม DocMemory windows Memory Diagnostic เป็นซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีไว้สำหรับทดสอบหน่วยความจำครับ สามารถดาวน์โหลดได้จาก Microsoft Online Crash Analysis ขนาดไฟล์ 639 กิโลไบต์ ต้องใช้แผ่นดิสก์เก็ตในการติดตั้งหรือว่าจะเลือกใช้แผ่นซีดีสำหรับบูตเช่นกัน โปรแกรมนี้จะวิเคราะห์การทำงานของหน่วยความจำ เพื่อค้นหาจุดต่างๆ ที่มีปัญหาและรายงานผลออกมาให้ผู้ใช้ทราบ

          นอกจากโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้ตรวจสอบหน่วยความจำที่เสียหายแล้ว ยังมีโปรแกรมอีกประเภทที่มีไว้ทดสอบความเร็ว และแสดงรายละเอียดต่างๆ ของหน่วยความจำมีชื่อว่า Sisoft Sandra 2004 เป็นซอฟต์แวร์สำหรับทดสอบส่วนต่างๆ ของพีซี ซึ่งนิยมใช้กันเป็นอย่างมาก สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีๆ ที่ SiSoftware Zone โปรแกรมนี้จะมีส่วนของการแสดงรายละเอียดอุปกรณ์ต่างๆ ของเครื่องครับ คุณสามารถเปิดดูว่าหน่วยความจำที่อยู่ในเครื่องมีขนาดเท่าไหร่ มีจำนวนกี่แผงจากนั้นก็มีโหมดสำหรับทดสอบ (Benchmark) ซึ่งโปรแกรมจะทำการทดสอบความเร็วในการทำงานของหน่วยความจำ หากไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะแสดงผลทดสอบออกมาเปรียบเทียบกับหน่วยความจำแบบอื่นๆ ด้วยครับ

ตรวจสอบหน่วยความจำด้วยฮาร์ดแวร์
          เมื่อมีซอฟต์แวร์สำหรับตรวจสอบแล้ว ก็มีคนคิดค้นอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบหน่วยความจำขึ้นมาด้วย ซึ่งถ้าถามผมว่าผู้ใช้ทั่วๆ ไปควรใช้มั้ย ผมก็คงต้องตอบว่าไม่ควรครับ ที่ว่าไม่ควรนั้นก็เพราะว่า อุปกรณ์สำหรับตรวจสอบหน่วยความจำเหล่านี้มีราคาค่อนข้างแพง ผมว่าใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบดีแล้วครับ เก็บเงินไว้ซื้อหน่วยความจำแผงใหม่จะดีกว่า แต่ถ้าคุณเป็นร้านค้าจำหน่ายพวกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รับประกอบเครื่องก็น่าจะมีไว้ใช้ สำหรับอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็มีที่ทดสอบหน่วยความจำของเครื่องพีซี และโน้ตบุ๊กได้ครอบคลุมหน่วยความจำทุกๆ ประเภทที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ครับ หากสนใจก็คงต้องมองหาจากอินเทอร์เน็ต เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีใครนำเข้ามาจำหน่าย

          การแก้ปัญหาเบื้องต้น การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่นิยมใช้กันก็คือ หลังจากเราทดสอบหน่วยความจำแล้วและพบว่ามีปัญหาจริงๆ แล้ว ก็ให้เปิดฝาเคส ถอดหน่วยความจำทั้งหมดออกครับ จากนั้นทำความสะอาดตัวเมนบอร์ดตรงส่วนของสล็อตหน่วยความจำและตัวแผงหน่วยความจำให้ทำความสะอาดส่วนของผิวสัมผัสที่เป็นสีทองโดยใช้ ยางลบธรรมดานี่แหละครับ ถูไปมาจะสังเกตได้ว่าสีของผิวสัมผัสจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย จากนั้นก็ใส่กลับเข้าไป แล้วลองเปิดใช้งานดูครับ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้งานได้ดีเช่นเดิมนะครับ เพราะการทำวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องของความสกปรกของตัวแผงหน่วยความจำ เท่านั้นเอง
          ถ้าปัญหามันเกิดขึ้นตรงที่ชิปหน่วยความจำเสีย คุณอาจจะดูว่ามันน่าจะซ่อมได้ เพราะชิปมันถูกแบ่งออกมาเป็นตัวๆ เสียตัวไหนก็เปลี่ยนตัวนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครทำกันครับ เพราะยุ่งยาก และลำบาก แถมทำมาไม่มีจะทำให้เกิดการลัดวงจร ส่งผลให้ส่วนอื่นๆ เสียหายอีก
ดังนั้นในกรณีนี้ เราควรเลิกใช้หน่วยความจำแผงเดิม หากหน่วยความจำอยู่ในอายุการรับประกันก็นำไปเคลมครับ แต่ถ้าหมดแล้วก็เสียใจด้วย คงต้องเปลี่ยนอย่างเดียว
          การรับประกันหน่วยความจำ ตอนนี้หน่วยความจำส่วนใหญ่จะส่งเสริมการขายด้วยการรับประกันแบบ Life Time Warranty ซึ่งตามความเข้าใจของหลายๆ คน ก็น่าจะหมายถึง การรับประกันตลอดอายุการใช้งาน โดยความจริงแล้วการรับประกันประเภทนี้ การรับประกันจะสิ้นสุดเมื่อไม่มีการผลิตหน่วยความจำประเภทนั้นๆ แล้ว นั่นเอง แต่ก็ถือว่าเป็นการรับประกันที่ดีกว่าแบบเดิมๆ ที่มีแค่ 1 ปี หรือ 3 ปีให้เลือกเท่านั้น ตอนนี้หน่วยความจำที่จำหน่ายอยู่เกือบทั้งหมดมีการรับประกันแบบ Life Time Warranty แล้ว แต่ก็มีบางยี่ห้อยังให้การรับประกับแบบ 1 หรือ 3 ปีอยู่ ดังนั้นการเลือกซื้อหน่วยความจำไม่ควรจะดูที่ราคาอย่างเดียว ควรดูยี่ห้อ และคุณภาพ รวมถึงการรับประกันด้วย ซึ่งอาจจะอาศัยการอ้างอิงจากแบบทดสอบจากเว็บไซต์ต่างๆ หรือว่าจากนิตยสารเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดครับ

สรุป
          ตอนนี้หากเครื่องพีซีของคุณมีอาการผิดปกติ แฮงค์บ่อยๆ หรือเกิดจอฟ้า (Blue Screen) ก็คงต้องถึงเวลาไปหาสาเหตุกันแล้วหล่ะครับ โดยเฉพาะหน่วยความจำที่คุณควรจะตรวจสอบเป็นอันดับต้นๆ ก่อนจะไปฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ แล้วติดตั้งโปรแกรมใหม่ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก 



อ้างอิงจาก :  http://203.172.182.172/~kriengsak/computer/computer/ram.html